การไหว้พระเก้าวัด เสริมศิริมงคล
การไหว้พระเก้าวัด เสริมศิริมงคล
มีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการไหว้พระเก้าวัดมาฝากกันครับ ก็ไปหาข้อมูลมาจากหลายแหล่งทีเดียวที่น่าสนใจ และเลยนำมาเสนอกัน และมีหลายที่ ซึ่งจัดทัวร์ไหว้พระเก้าวัดในหนึ่งวัน โดยส่วนมาก ถ้าจะไปให้ทั่ว มักจะไปกันทางเรือ ซึ่งจะสะดวก แต่ก็อาจจะเหนื่อยหน่อย และอีกอย่างถ้าจะให้ครบในวันเดียว ก็อาจจะได้เที่ยวชมความสวยงาม ของวัดวาอารมต่างๆ น้อยไปหน่อย
ก็แนะให้ไปกันเองก็ได้ครับ ไปกันเฉพาะวันหยุด เสาร์หรืออาทิตย์ก็ได้ โดยที่วันหนึ่งอาจจะสองหรือสามวัด จนกว่าจะครบโดยไม่ต้องพะวงว่า จะต้องให้ครบทั้งเก้าวัดภายในกี่วัน จะทำให้ไม่สนุก และเราจะได้เดินเที่ยวชมวัดกันให้ทั่วๆด้วย
ซึ่งวัดที่แนะนำกันทั้งเก้าวัด มีดังนี้ครับ
1. ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
2. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
3. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
4. ศาลเจ้าพ่อเสือ
5. วัดสุทัศน์เทพวราราม
6. วัดชนะสงคราม
7. วัดระฆังโฆษิตาราม
8. วัดอรุณราชวราราม
9. วัดกัลยาณมิตร
รายละเอียด ดังนี้ครับ

ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร
คติ "ตัดเคราะห์ ต่อชะตา เสริมวาสนา บารมี"
กิจกรรม สักการะ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ไหว้พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เจ้าพ่อเจตคุปต์ พระกาฬไชยศรี เจ้าพ่อหอกลอง ประกอบพิธีสะเดาะเคราะห์ตามธรรมเนียม "ไหว้เจ้าพ่อหลักเมือง ตัดเคราะห์ ต่อชะตา เสริมวาสนา บารมี" (บูชาพระด้วย ดอกบัวกับธูป 3 ดอก ไหว้องค์เสาหลักเมืองจำลองด้วยผ้าแพร 3 สี พวงมาลัย แล้วนำพวงมาลัยไปไหว้เสาหลักเมืององค์จริง เสร็จแล้วไหว้เทพเทพารักษ์ ทั้ง 5)

ประวัติ/ ความเป็นมา การสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทำพิธียกเสาหลักเมือง เพื่อความเป็นสิริมงคล ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2326 เวลา 6.45 น. ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะซ่อมแซมใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2395 เสาหลักเมืองสร้างด้วยไม้ชัยพฤกษ์ สูงพ้นดิน 108 นิ้ว ส่วนที่ฝังอยู่ในดินยาว 79 นิ้ว มียอดสวมลงบนเสา ลงรักปิดทองสำหรับบรรจุชะตาเมือง ต่อมาในปี 2523 ได้มีการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ ในบริเวณนี้ยังมีศาลเทพารักษ์ ประดิษฐานเจ้าพ่อหอกลอง เจ้าพ่อเจตคุปต์ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระกาฬไชยศรี และมีการจัดละครรำ ละครชาตรี ไว้สำหรับให้ผู้ต้องการแสดงคารวะได้ว่าจ้างด้วยการรำบูชาศาลหลักเมือง อยู่ตรงด้านข้างด้วย
สถานที่ตั้ง บริเวณมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสนามหลวง ตรงข้ามพระบรมมหาราชวัง ถนนมหาไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 1, 3, 6, 9, 15, 19, 25, 30, 32, 33, 39, 43, 44, 47, 53, 59, 60, 64, 65, 70, 80, 82, 91, 123, 201, 203 รถปรับอากาศ สาย ปอ. 1, 6, 7, 8, 12, 25, 38, 39, 44
... เครื่องสักการะ..ชุดละ 30 บาท...(มีจำหน่ายที่หน้าศาล) ...ประกอบด้วย ดอกไม้ 1 กำ..พวงมาลัย 1 พวง..ผ้าแพร 3 สี 1 ชุด..ธูป เทียน ทอง 1 ชุด ...
2. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
คติ "แก้วแหวน เงินทองไหลมา เทมา"
กิจกรรม ไหว้ พระแก้วมรกต พระพุทธรูปสำคัญในภูมมิภาคเอเชียเป็นศูนย์กลางความศรัทธา ไทย-ลาว "ไหว้พระแก้วมรกต แก้วแหวน เงินทองไหลมา เทมา ตลอดปี" (สักการะด้วยดอกบัวคู่ และธูปเทียน)

ประวัติ/ ความเป็นมา เป็นพระอารามที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในบริเวณพระบรมมหาราชวัง ตามประเพณี ที่มีมาแต่สมัยโบราณ เพื่อความสะดวกเวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตามราชประเพณี และ เพื่อเป็นที่บรรจุพระอัฐิอายุ ของพระเจ้าแผ่นดิน และเจ้านายในราชสกุลพระอุโบสถ
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างขึ้นแต่ ครั้งรัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกต ซึ่งอันเชิญมาจากกรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ.2427 ต่อมาในรัชกาลที่ 3 ได้ซ่อมแซมประดับประดา ด้วยฝีมือช่างอันวิจิตร ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง และ สำหรับเป็นที่ประชุมข้าทูลละอองพระบาท ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ปราสาทพระเทพบิดรสร้างสมัยรัชกาลที่ 4, 5 ในพ.ศ.2439 ต่อมาเกิดไฟไหม้ บูรณะเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้อันเชิญพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 จากพระที่นั่งศิวาลัยมาประดิษฐาน ไว้และต่อมาได้อันเชิญพระบรมรูปรัชกาลที่ 6, 7, 8 มาประดิษฐาน เปิดให้ประชาชน เข้าถวายสักการบูชา ในวันจักรี 6 เมษายน และวันฉัตรมงคล พระศรีรัตนเจดีย์
สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ.2398 มีเจดีย์องค์เล็กอยู่ภายในประดิษฐาน พระบรมธาตุ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ประดับกระเบื้องสีทองทั้งองค์พระเจดีย์พระมณฑป สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองตู้พระไตรปิฎก ประดับมุก ฝีมือวิจิตรสวยงามยิ่ง นอกจากนี้ ยังมีสถาปัตยกรรมทรงไทยและการประดับตกแต่ง บริเวณสถานที่อย่างวิจิตรพิสดาร โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องรามเกียรติ์ บนผนังพระระเบียงที่โอบล้อมบริเวณวัดทั้ง 4 ด้าน

สถานที่ตั้ง บริเวณสนามหลวง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 1, 3, 6, 9, 15, 19, 25, 30, 32, 33, 39, 43, 44, 47, 53, 59, 60 , 64, 65, 70, 80, 82, 91, 123, 201, 203 รถปรับอากาศ สาย ปอ.1, 6, 7, 8, 12, 25, 38, 39, 44
3.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
คติ "ร่มเย็นเป็นสุข"
กิจกรรม นมัสการพระพุทธไสยาสน์ อันศักดิ์สิทธิ์ (ที่ฝ่าพระบาททั้งสองข้างประดับมุกลวดลาย ภาพมงคล 108 ประการ) และแวะไหว้เจ้าแม่กวนอิมปางพันกร ที่เลื่องลือครั้ง สมัยรัชกาลที่ 3 ว่าศักดิ์สิทธิ์มากเพื่อความเป็นสิริมงคล "ไหว้พระนอนวัดโพธิ์ สงบสุขร่มเย็นตลอดปี" (สักการะด้วย ทองคำเปลว 11 แผ่น ธูป 9 ดอก เทียนคู่)

ประวัติ/ ความเป็นมา เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างพระบรมมหาราชวังแล้ว ได้ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์บูรณะวัดโบราณที่อยู่ใกล้เขตกับพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเรียกกันว่าวัดโพธาราม และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่งบรรจุพระพุทธรูป พระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งอันเชิญมาจากกรุงศรีอยุธยา
ต่อมาในพ.ศ. 2377 รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระเจดีย์เก่าสมัยรัชกาลที่ 1 แล้วกรุด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว แล้วพระราชทานนาม พระเจดีย์ตามรูปว่า "พระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ" แล้วจารึกบทกวีนิพนธ์ทั้งสมัยอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ลงบนแผ่นศิลา ติดไว้ในบริเวณพระอุโบสถ และทรงสร้างเจดีย์ใหญ่อีกองค์หนึ่ง เพื่ออุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยชื่อ "พระมหาเจดีย์ดิลกธรรมกนิธาน" รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชประสงค์ให้วัดโพธิ์เป็น "มหาวิทยาลัยสำหรับประชาชน"
ดังนั้นความรู้จากกวีนิพนธ์ บางเรื่องจะมีภาพเขียนหรือรูปนั้นประกอบ แบ่งออกได้ 8 หมวดคือ ประวัติวัดตำราย่า อนามัย ประเพณี วรรณคดีไทย สุภาษิตเปรียบเทียบ และพุทธศาสนาในปัจจุบันวัดพระเชตุพนฯ เปิดอบรมเผยแพร่วิชาแพทย์แผนโบราณ เมื่อสำเร็จการอบรมมีการสอบเพื่อรับ ใบประกอบโรคศิลป์จากกระทรวงสาธารณสุข

สถานที่ตั้ง หลังพระบรมมหาราชวัง ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร
การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 1, 3, 6, 9, 12, 25, 32, ,43, 44, 47, 48, 53, 60, 82, 91, 123 รถปรับอากาศ สาย ปอ.6, 7, 8, 9, 12, 25, 44, 91
4. ศาลเจ้าพ่อเสือ
คติ "เสริมอำนาจบารมี"
กิจกรรม สักการะศาลเจ้าเก่าแก่ของลัทธิเต๋า หนึ่งในสามมหาสถานของพระนคร ที่ชาวจีนต้องสักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล "เสริมอำนาจบารมี" (สักการะด้วยธูป 15 ดอก เทียนแดงคู่-เทียนจีน)
ประวัติ/ ความเป็นมา ตั้งอยู่ที่ถนนตะนาว แขวงเจ้าพ่อเสือ เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ เขตพระนคร บนเนื้อที่ 2 ไร่เศษ เดิมตั้งอยู่ริมถนนบำรุงเมือง เป็นศาลขนาดใหญ่ ภายในเคยมีเทพเจ้าจีน ทำด้วยทองคำหนัก 120 บาท แต่ถูกโจรปล้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 5 ขยายถนน ได้โปรดให้พระยาโชฎีราชเศรษฐีย้ายศาล มาไว้ที่ถนนตะนาว ตอนแรกชาวจีนไม่ยอมให้ย้าย อ้างว่าเจ้าไม่พอใจ บอกผ่านคนทรงว่าจะเกิดเหตุร้าย ในบ้านเมือง รัชกาลที่ 5 ต้องประกาศว่า ถ้าเจ้ายังทำนายดังนั้นจะเอาผิดกับคนทรง ชาวจีนจึงได้ยอมย้ายมาอยู่ในที่ปัจจุบัน อ้างว่าเจ้าพอใจสถานที่ใหม่แล้ว ภายในศาลเจ้าเป็นที่ประดิษฐานเจ้าพ่อเสือ เจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่ทับทิม ฯลฯ เป็นที่เคารพนับถือของชาวจีน ชาวไทยเป็นอย่างมาก

ครอบครัวชาวจีนที่ยังไม่มีลูก ต้องการอยากมีมากๆก็จะไปขอลูกที่ "ตั่วเล่าเอี๊ย" หรือศาลเจ้าพ่อเสือในคืนวันที่ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑ (ตามปฏิทินจีน) ชาวจีนเรียกพิธีนี้ว่า "จับโหงวแม้" (แปลว่า "คืนวันที่ ๑๕ ค่ำ") โดยนำ "ทึ้งถะ" หรือเจดีย์ที่ทำด้วยน้ำตาลไปไหว้ คนที่อยากมีลูกแล้วไปขอ ท่านแนะนำว่า ต้องให้ฝ่ายชายไปไหว้แล้วขโมย "ทึ้งไซ" หรือสิงโตที่ทำด้วยน้ำตาลกลับมาบูชาที่บ้าน เมื่อได้ลูกสมปรารถนาแล้วปีหน้าหรือปีถัดไปต้องเอาสิงโตที่ทำด้วยน้ำตาลไปไหว้ใช้คืนสองเท่า หรือสองตัวนั่นเอง เผื่อให้ครอบครัวอื่นที่ยังไม่มีลูกจะได้ไปขโมยบ้าง ปัจจุบันเพื่อความสะดวก ทางคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อเสือ (เสาชิงช้า) ได้อำนวยความสะดวก โดยตั้งจุดขายสิงโตน้ำตาล และเจดีย์น้ำตาล เพื่อลดความแออัดและความชุลมุนวุ่นวาย

ทุกวันนี้มีคนไปไหว้กันมาก เดินแทบไม่ได้แถมยังถูกรมด้วยควันธูปที่คลุ้งกระจายจนแสบตา หลายคนน้ำตานองหน้ากว่าจะเข้าถึงองค์เจ้าพ่อเพื่อให้อาแป๊ะหรือเจ้าหน้าที่ของศาลเจ้าเอาเนื้อหมูสด (ท่านสามารถหาซื้อได้จากแม่ค้ารอบๆศาลเจ้า) ที่ถวายถูที่ปากท่านแล้วพูดว่า "เฮงๆ" นั่นแหละ
ขอให้เฮง หรือโชคดี สมปรารถนาตลอดปีและตลอดไป ที่สำคัญอย่าลืมเช่า "ฮู้" หรือยันต์เจ้าพ่อเสือที่ศาลเจ้ามาติดไว้ที่บ้านหรือสำนักงาน เพื่อความเป็นสิริมงคลอยู่รอดปลอดภัย ส่วนท่านที่เกิดปีขาล ปีมะเส็ง ปีวอกและปีกุน ขอแนะนำว่าในทุกๆปีขาลที่เวียนมาถึงควรไปไหว้เจ้าที่ศาลเจ้าพ่อเสือให้ได้ โดยเฉพาะคนปีขาลและปีวอกต้องขอเน้นเป็นพิเศษ เพราะเป็นปีที่มีอิทธิพลท่านมากจริงๆ และเพื่อความมั่นใจและได้ผลอย่างแน่นอน ควรไหว้ "ไช้ซิ้งเอี๊ย" (เทพเจ้าแห่งโชคลาภหรือเทพเจ้าเงินตรา) ที่ศาลเจ้าพ่อเสือ ชาวจีนที่มีอายุมากๆ ตลอดจนซินแสทั้งหลายต่างร่ำรือถึงความศักสิทธิ์ว่า ไช้ซิ้งเอี๊ย องค์ที่อยู่ในศาลเจ้าพ่อเสือ (เสาชิงช้า) ใครดวงไม่ดีแต่อยากรุ่งหรือใครที่มีปัญหาเรื่องเงินทอง ท่านจะช่วยดังนั้นชาวจีนจึงนิยมไปไหว้กันมาก
สถานที่ตั้ง ถนนตะนาว เยื้องกับวัดมหรรณพาราม แขวงเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร
การเดินทาง เดินทางโดยรถประจำทาง สาย 10, 12, 19, 35, 42, 56, 96 รถปรับอากาศ สาย ปอ.42
|